วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
การติดต่อกับชาวต่างชาติของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ มีผลต่อสังคมไทยหลายด้าน วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย โดยวัฒนธรรมบางอย่างได้ถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของคนไทย ขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างรับมาใช้โดยตรง
1. วัฒนธรรมตะวันออกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกต่อสังคมไทยมีมาตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรของคนไทย เช่น สุโขทัย ล้านนา ซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมที่รับจากอินเดีย จีน เปอร์เซีย เพื่อนบ้าน เช่น เขมร มอญ พม่า โดยผ่านการติดต่อค้าขาย การรับราชการของชาวต่างชาติ การทูต และการทำสงคราม
สำหรับตัวอย่างอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกที่มีต่อสังคมไทยมีดังนี้
1. ด้านอักษรศาสตร์ เช่น ภาษาไทยที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลจากภาษาขอม รับภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจากหลายทางทั้งผ่านพระพุทธศาสนา ผ่านศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย เขมร นอกจากนี้ ในปัจจุบันภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น
2. ด้านกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมายอินเดีย ได้แก่ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยรับผ่านมาจากหัวเมืองมอญอีกต่อหนึ่ง และกลายเป็นหลักของกฎหมายไทยสมัยอยุธยาและใช้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
3. ด้านศาสนา พระพุทธศาสนาเผยแผ่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ดังจะเห็นได้จากแว่นแคว้นโบราณ เช่น ทวารวดี หริภุญชัยได้นับถือพระพุทธศาสนา หรือสุโขทัย รับพระพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชและได้ถ่ายทอดให้แก่อาณาจักรอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยตลอดมา นอกจากนี้ คนไทยยังได้รับอิทธิพลในการนับถือศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวมุสลิมนำมาเผยแผ่ รวมทั้งคริสต์ศาสนาที่คณะมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแผ่ในเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
4. ด้านวรรณกรรม ในสมัยอยุธยาได้รับวรรณกรรมเรื่องรามเกรียรติ์ มาจากเรื่องรามายณะของอินเดีย เรื่องอิเหนาจากชวา ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการแปลวรรณกรรมจีน เช่น สามก๊ก ไซอิ๋ว วรรณกรรมของชาติอื่น ๆ เช่น ราชาธิราชของชาวมอญ อาหรับราตรีของเปอร์เซีย เป็นต้น
5. ด้านศิลปวิทยาการ เช่น เชื่อกันว่าชาวสุโขทัยได้รับวิธีการทำเครื่องสังคโลกมาจากช่างชาวจีน รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาจากอินเดีย ศรีลังกา
6. ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต เช่น คนไทยสมัยก่อนนิยมกินหมากพลู รับวิธีการปรุงอาหารที่ใส่เครื่องแกง เครื่องเทศจากอินเดีย รับวิธีการปรุงอาหารแบบผัด การใช้กะทะ การใช้น้ำมันจากจีน ในด้านการแต่งกาย คนไทยสมัยก่อนนุ่งโจงกระเบนแบบชาวอินเดีย เป็นต้น
2. วัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
ไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกหลายด้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในระยะแรกเป็นความก้าวหน้าด้านการทหาร สถาปัตยกรรม ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ดัวอย่างวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยที่สำคัญมีดังนี้
1. ด้านการทหาร เป็นวัฒนธรรมตะวันตกแรก ๆ ที่คนไทยรับมาตั้งแต่อยุธยา โดยซื้ออาวุธปืนมาใช้ มีการสร้างป้อมปราการตามแบบตะวันตก เช่น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจ้างชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทหาร มีการตั้งโรงเรียนนายร้อย การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก
2. ด้ารการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง เช่น พระอนุชาและขุนนางได้เรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงจ้างครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษและความรู้แบบตะวันตกในราชสำนัก
ในสมัยรัชการลที่ 5 มีการตั้งโรงเรียนแผนใหม่ ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นมาจัดการศึกษาแบบใหม่ ทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศต่าง ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับและการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ด้านวิทยาการ เช่น ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้อง ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเริ่มในสม้ยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดตั้งโรงพยาบาล โรงเรียนฝึกหัดแพทย์และพยาบาล ความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้เป็นพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน
ด้านการพิมพ์ เริ่มจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2387 ชื่อ "บางกอกรีคอร์เดอร์" การพิมพ์หนังสือทำให้ความรู้ต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้น ในด้านการสื่อสารคมนาคม เช่น การสร้างถนน สะพาน โทรทัศน์ โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป รถยนต์ รถไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่คนไทยเป็นอย่างมาก
4. ด้านแนวคิดแบบตะวันตก การศึกษาแบบตะวันตกทำให้แนวคิดทางการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐแพร่เข้ามาในไทย และมีความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้ วรรณกรรมตะวันตกจำนวนมากก็ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการประพันธ์จากร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในสังคมไทย เช่น การเข้าใจวรรณกรรมรูปแบบนวนิยาย เช่น งานเขียนของดอกไม้สด ศรีบูรพา
5. ด้านวิถีการดำเนินชีวิต การรับวัฒนธรรมตะวันตกและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาใช้ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหารแทนการใช้มือ การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น การใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกหรือปรับจากตะวันตก การปลูกสร้างพระราชวัง อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก ตลอดจนนำกีฬาของชาวตะวันตก เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ เข้ามาเผยแพร่ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรตุเกส เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา วัฒนธรรมสำคัญที่พ่อค้าโปรตุเกสนำเข้ามาเผยแพร่คือคริสต์ศาสนารัฐบาลไทยได้เปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตกและให้เสรีภาพในการนับถือและเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวต่างประเทศ อนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์และมีบาทหลวงคาทอลิกคณะต่างๆ เช่น โดมินิกันและฟรานซิสกัน เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวพื้นเมือง เช่น ไทย ลาว มอญ ญวน จีน ฯลฯแต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและไม่สนใจเรื่องศาสนาอื่น ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกได้เจริญสูงสุด คณะบาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเจซูอิตเข้ามามีบทบาทด้านการเผยแผ่ศาสนา และชักชวนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสเปิดสัมพันธไมตรีกับไทย คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้นำศิลปวิทยาการต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญๆ ของตะวันตกมาสู่สังคมไทย เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียนการแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิชาการในแขนงต่างๆ เป็นต้นว่า ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖)เป็นต้นมา สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับชาติตะวันตกได้เสื่อมลง คณะบาทหลวงส่วนใหญ่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ศิลปวิทยาการตะวันตกต่างๆ จึงมิได้สืบทอดและแพร่หลายในหมู่ราษฎร ยกเว้นศาสนาคริสต์ซึ่งยังคงเผยแผ่อยู่ในหมู่ชาวต่างชาติและชาวไทยบางส่วนที่เลื่อมใสมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันตกที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้แก่ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เช่น การต่อเรือการสร้างป้อมปราการ และเคหสถาน โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การหล่อปืนใหญ่ และการสร้างหอดูดาว
วัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่หลายมากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีชาวยุโรป คือ คาร์ลกุสลาฟ (Karl Gutzlaff) และ เจคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกาย โปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นต้นมา มิชชันนารีอเมริกัน เช่น หมอบรัดเลย์หมอสมิธ ฯลฯ ได้เข้ามารับผิดชอบการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ต่อจากมิชชันนารีชาวยุโรป และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสังคมไทยด้วย เนื่องจากมีโอกาสใกล้ชิดกับราษฎร ส่วนพวกคาทอลิกซึ่งเข้ามาสอนศาสนาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีก็ได้มีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix)เข้ามาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น โดยได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ในสมัยที่เซอร์ จอห์น บาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ เรียกว่า สนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty) และสนธิสัญญากับประเทศอื่น ๆ ในทำนองเดียวกับสนธิสัญญาบาวริงในเวลาต่อมา สนธิสัญญาเหล่านั้นได้อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับราษฎรโดยเสรี ชาวต่างประเทศจึงเดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จำนวนมิชชันนารีอเมริกันและคาทอลิกก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย และกระจายกันเผยแผ่ศาสนาทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้าไปถึงชนบท ในรัชกาลนี้ได้เริ่มมีการเรียนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกโดยจ้างผู้หญิงชาวอังกฤษมาสอนในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปประเทศและสนับสนุนให้นำศิลปวิทยาการตะวันตกแขนงต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร เป็นต้น ยังทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ รวมทั้งทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้และวิทยาการต่างๆ มาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมืองอีกด้วย ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกจึงได้ผสมผสานอยู่ในสังคมไทยมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานับตั้งแต่ไทยทำสนธิสัญญาบาวริง จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมทั้งหมดได้สำเร็จนั้น วัฒนธรรมตะวันตกที่ผสมผสานอยู่ในสังคมไทย ยังคงมีสภาพเป็น "ของฝรั่ง" อยู่มากและยังมิได้ผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทย แต่หลังจาก พ.ศ. ๒๔๘๐ แล้ววัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น และได้ผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน
การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนพ.ศ. ๒๔๘๐ ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นชอบและการสนับสนุนของรัฐบาล เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่า วัฒนธรรมเหล่านั้นล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนี้แล้วเจ้านายและขุนนางยังเป็นผู้นำในการรับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะ รูปลักษณ์ภายนอก (appearance) เป็นต้นว่า การแต่งกาย การกีฬา นันทนาการ การรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงกลายเป็น "พระราชนิยม" ที่ผู้คนในสังคมไทยถือเอาเป็นแบบอย่างและถือเป็น "ความทันสมัย" ที่น่าภาคภูมิใจจึงอาจกล่าวได้ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกเกิดจากเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า และเพื่อพัฒนาให้ทันสมัย
วัฒนธรรมตะวันตกที่รับเข้ามาเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า
วัฒนธรรมตะวันตกที่รัฐบาลไทยเห็นชอบให้นำเข้ามาเผยแพร่ทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวิทยาการที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มิชชันนารีได้นำความรู้ด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลแบบตะวันตก เข้ามาเผยแพร่ควบคู่กับการเผยแผ่ศาสนา จนกระทั่งมิชชันนารีอเมริกันกลายเป็น "หมอสอนศาสนา" ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) และหมอเฮ้าส์ (Dr. House)ได้ทำการปลูกฝี ผ่าตัด ทำคลอดและให้คำแนะนำด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค วิทยาการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้กลายเป็นรากฐานของการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน เช่น การตั้งโรงพยาบาล
ด้านการศึกษา มิชชันนารีอเมริกันได้นำการศึกษาในระบบโรงเรียนเข้ามาเผยแพร่ โดยได้เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้กับบุคคลทั่วไป คือ โรงเรียนมัธยมสำเหร่ (หรือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชายแห่งแรก และโรงเรียนกุลสตรีวังหลังสำหรับเด็กหญิง (หรือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ แม้ว่าจุดประสงค์สำคัญของมิชชันนารีจะต้องการสอนศาสนาควบคู่ไปกับการศึกษา แต่การตั้งโรงเรียนได้กลายเป็นแบบอย่างที่รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติ จึงมีการตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับบุตรหลานของเจ้านายและข้าราชบริพาร ตลอดจนโรงเรียนสำหรับเด็กไทยทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา (พ.ศ. ๒๔๖๔) ในรัชสมัยพระ-บาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาดังเช่นประชากรของชาติอื่นๆ ทั้งในระดับประถมศึกษาและอุดมศึกษา
ด้านการพิมพ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อนุญาตให้มิชชันนารีนำแท่นพิมพ์มาใช้ในการพิมพ์เพื่อเผยแผ่ศาสนาและตั้งโรงพิมพ์ การพิมพ์ได้มีบทบาทสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับประชาชน และช่วยส่งเสริมการศึกษา ประชาชนมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อรับทราบข่าวสาร วรรณกรรมวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ทำให้ได้รับความรู้สร้างสรรค์ขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมทั้งมีโอกาสแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ขณะนั้น เช่นบางกอกรีคอร์เดอร์ และบางกอกคาเลนดาร์ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ใช้การพิมพ์เป็นสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารของบ้านเมือง ตลอดจนประกาศต่างๆ นับว่าการพิมพ์มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของสังคมไทยที่เคยเป็นสังคมปิดไม่ค่อยมีโอกาสรับทราบข่าวสารต่างๆ มากนัก
การคมนาคมและการสื่อสาร ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา รัฐบาลได้พัฒนาระบบการคมนาคมและการสื่อสาร มีการสร้างทางรถไฟและถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางบก นอกเหนือจากการสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นทางคมนาคมสำคัญที่ใช้ ตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบสื่อสารซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามา เช่น ระบบไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และยังได้นำรถยนต์ รถจักรยาน รถรางรถเมล์ เรือเมล์ เครื่องบิน มาใช้เป็นพาหนะในการคมนาคมอีกด้วย เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคมนาคมเหล่านี้ ล้วนมีส่วนทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง ทั้ง
ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการขยายตัวของชุมชนในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ
ความเจริญและเทคโนโลยีอื่นๆ สังคมไทยรับความเจริญต่างๆ และด้านเทคโนโลยีมาปฏิรูปประเทศหลายด้าน เช่น การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก ระบบกฎหมายและการศาล และระบบการเงินการคลัง การชลประทาน และการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ฯลฯซึ่งล้วนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา
วัฒนธรรมที่รับมาเพื่อสร้างความทันสมัย
ในการติดต่อกับชาวตะวันตกโดยทั่วไปเจ้านายและขุนนางได้ปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อมิให้เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวตะวันตก มีการรับแบบแผนประเพณีและค่านิยมแบบตะวันตกมาปรับปรุงการดำเนินชีวิต และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรทั่วไปได้ยึดถือเป็นแบบอย่างและหล่อหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ แนวความคิดแบบตะวันตก การแต่งกาย การตกแต่งบ้านเรือน เครื่องเรือน การรับประทานอาหาร การกีฬาและนันทนาการแนวคิดแบบตะวันตก เมื่อมีการพัฒนาด้านการศึกษาและการพิมพ์ วรรณกรรมตะวันตกทั้งที่เป็นแนววิชาการและบันเทิงจึงได้แพร่หลายเข้ามาสู่สังคมไทย และมีอิทธิพลต่อการสร้างแนวคิดและสำนึกของไทย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจถึงคุณค่าของมนุษย์ และความทัดเทียมกันแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในรูปของวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในภาษาไทย เช่น งานเขียนของเทียนวรรณ ดอกไม้สด ศรีบูรพา และ มาลัย ชูพินิจ
การแต่งกาย ราชสำนักไทยและขุนนางเป็นกลุ่มแรก ที่รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตก ทั้งของหญิงและชายมาประยุกต์ใช้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ถึง ๒ ครั้ง ก็ทรงฉลองพระ-องค์แบบตะวันตก ต่อมาการแต่งกายแบบตะวันตกของเจ้านายก็กลายเป็น "พระราชนิยม" ที่คนทั่วไปยึดเป็นแบบอย่าง
การตกแต่งบ้านเรือน นับตั้งแต่ชาวตะวันตกได้นำสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาคารและการตกแต่งภายในแบบตะวันตกมาสู่สังคมไทยราชสำนักและชนชั้นสูงก็เริ่มปรับวิถีชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดังกล่าว จากเดิมที่เคยปลูกสร้างอาคารแบบเรือนไทยและค่อยๆ รับรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบจีน ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบตะวันตก มีการสร้างที่อยู่อาศัยและตกแต่งบ้านเรือนด้วยเครื่องเรือนแบบตะวันตก เช่น โต๊ะ ตู้ ภาพประดับ ของใช้ต่างๆ เช่น ช้อน ส้อม มีด ถ้วย ชาม ฯลฯ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารด้วยมือมาเป็นการใช้มีด ช้อน และส้อม แทน วัฒนธรรมเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน
การกีฬาและนันทนาการ การกีฬาและนันทนาการแบบตะวันตก เริ่มเข้ามาแพร่หลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อมีชาวตะวันตก เข้ามาติดต่อค้าขาย และพำนักอยู่ในเมืองไทยการกีฬาแบบตะวันตกที่แพร่หลายในระยะแรกๆ คือ การขี่ม้า ยิงปืน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กีฬาที่แพร่หลาย ได้แก่ ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส แบดมินตัน แข่งม้า จักรยาน กรีฑา ยิมนาสติก ฟันดาบ ในราชสำนักมีการเล่นกีฬาโครเกต์ (Croquet)
ต่อมาการกีฬาแบบตะวันตกได้แพร่หลายอยู่ในหลักสูตรพลศึกษาในโรงเรียน มีการแข่งขันกีฬานักเรียนประเภทต่างๆ ที่แพร่หลายได้แก่ กรีฑา ฟุตบอล มวยสากล และยิมนาสติก นอกจากนี้แล้วยังทรงส่งเสริมให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศจัดตั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนันทนาการ เช่น สโมสร บันเทิงสถานเมืองตรัง ราชกรีฑาสโมสร และสโมสรราชเสวก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับข้าราชบริพารในพระองค์
จะเห็นได้ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกทั้งเพื่อพัฒนาบ้านเมืองและเพื่อความทันสมัย ล้วนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งผลดีและผลเสียต่อสังคมไทย
การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อสังคมไทย
ประการแรก การรับความเจริญทางด้านการศึกษาและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือสังคมไทยมีประชากรที่มีคุณภาพได้รับการศึกษา อ่านออกเขียนได้ รู้จักคิดและใช้เหตุผล ตลอดจนมีสุขภาพดีก็จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศได้
ประการที่สอง ความรู้และเทคโนโลยีของชาติตะวันตก มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มผลิตผลทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมช่วยเพิ่มรายได้และความอยู่ดีกินดีให้กับพลเมือง นอกจากนี้แล้วการคมนาคมยังช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวของชุมชน ในส่วนภูมิภาคช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเติบโต มีการสื่อสารติดต่อกันได้สะดวกและรวดเร็ว
ประการที่สาม วัฒนธรรมตะวันตกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการเมืองการปกครอง เช่น การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การศาล การทหาร ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยยืนหยัดรักษาเอกราชมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้
การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลเสียต่อสังคมไทย
การยึดถือเอาวัฒนธรรมตะวันตกไว้ในสังคมไทยโดยไม่กลั่นกรอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยม โดยเชื่อว่าวัฒนธรรมตะวันตกดีกว่าวิเศษกว่าวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมเห็นว่าวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งล้าหลังและคร่ำครึค่านิยมเช่นนี้นับว่าเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองเพราะก่อให้เกิดความหลงผิดและดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนี้แล้วบางครั้งยังยึดค่านิยมที่ผิดๆ เช่น การยึดมั่นในวัตถุจนละเลยทางด้านจิตใจและคุณธรรมการหลงใหลและชื่นชมวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ มากเกินไป ก็ทำให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม จนกระทั่งขาดความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งนับว่าเป็นผลเสียต่อการพัฒนาสำนึกของความเป็นชาติในระยะยาว
ศิลปวัฒนธรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีดังนี้
1) ศาสนา
ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่เรียกว่า ฉบับหลวงหรือฉบับทองใหญ่ และมีการตรากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ
2) ประเพณีและวัฒนธรรม
พระราชประเพณีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และราชพิธีพืชมงคล เป็นต้น ส่วนประเพณีท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับคนไทยโดยทั่วไป เช่น การลอยกระทงการเล่นสักวา การเล่นเพลงเรือ พิธีตรุษ สารท เป็นต้น
3) สถาปัตยธรรม สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ คือการสร้างพระบรมมหาราชวัง
4) ประติมากรรม
ประติมากรรมชิ้นเอก คือ การแกะสลักประตูกลางด้านหน้าพระวิหารวัดสุทัศน์ และงานตกแต่งหน้าบรรณพระอุโบาสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
5) จิตรกรรม
จิตรกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนางาน จิตรกรรมที่สำคัญ เช่น ภาพเขียนในพระอุโบสถวัด พระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น
6) วรรณกรรม
สมัยรัชกาลที่ 1 วรรณกรรมที่สำคัญ เช่น นิราศท่าดินแดง โครงพยุหยาตรา และมหาชาติคำหลวง เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นยุคทองของวรรณกรรม วรรณกรรมที่สำคัญ เช่น ละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน อิเหนา รามเกียรติ์ และเพลงพากย์โขน เป็นต้น
กวีสำคัญในสมัยนี้ เช่น พระสุนทรโวหาร (ภู่) พระยาตรัง และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น
7) ดนตรีและนาฏศิลป์
การละเล่นที่สำคัญ คือ โขน ซึ่งพัฒนามาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ นิยมเล่นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนละคร มีทั้งละครนอกและละครใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีซอสายฟ้าฟาดคู่พระหัตถ์ และทรงพระราชนิพนธ์ เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งต่อมา ทรงเรียกว่า เพลงพระสุบิน
การปรับปรุงประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก แทนที่จะ ปรับปรุงประเทศตามแบบอยุธยา อย่างเช่นที่เคยเป็นมา การปรับดังกล่าวได้แก่
การปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
1) การประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า ตามแบบตะวันตก
2) การปฏิบัติต่อต่างชาติ โดยการให้เข้าเฝ้าโดยการยืน และถวายคำนับ แทนการหมอบคลาน และทรงให้ชาวต่างชาติ ิร่วมโต๊ะเสวยในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งทำให้ต่างชาติยอมรับประเทศไทยมากชึ้น
3) ให้มีประเพณีตีกลองฎีกา เพื่อให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์ได้ และทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทานแก่ขุนนาง และเจ้านาย
การส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม
1) สถาปัตยกรรม ทรงโปรดศิลปกรรมตะวันตกมากจึงสร้างขึ้นหลายแหล่ง เช่น พระราชวังสราญรมย์ เป็นต้น
2) ประติมากรรม ศิลปกรรมตะวันตก แสดงออกมาในแบบรูปปั้นต่างๆ เช่น พระพุทธพรรณี เป็นต้น
3) จิตรกรรม เริ่มนำเอาเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกมาใช้ ผู้ที่นำมา คือ พระอาจารย์ขรัวอินโข่ง
4) วรรณกรรม พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ มหาเวสสันดรชาดก เป็นต้น กวีมีชื่อเสียง เช่น ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา
การปรับปรุงประเทศของพระองค์ เป็นการปรับปรุงเพื่อเตรียมรับอารยธรรมตะวันตก ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในขณะนั้น และการ ปรับปรุงของพระองค์มีผลกระทบโดยตรงต่อพระราชโอรสของพระองค์ เมื่อขึ้นครองราชย์ คือรัชกาลที่ 5
ในเวลาต่อมา รัชกาลบที่ 5 ได้ทำการปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งเสริมวรรณกรรมและศิลปกรรม ดังนี้
การปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี
1) เปลี่ยนแปลงการแต่งกาย เช่น เครื่องแบบทหารให้ใช้แบบตะวันตกและผู้ชายให้ใส่เสื่อราชปะแตน ผู้หญิงให้ไว้ผมทรง ดอกกระทุ่ม เป็นต้น
2) ยกเลิกประเพณีหมอบคลาน ยกเลิกการสืบพยานแบบจารีตนครบาลและประกาศใช้การนับ ร.ศ. โดยยึด พ.ศ. 2325 เป็น ร.ศ. 1
3) แก้ไขประเพณีการสืบสันตติวงศ์ใหม่ โดยการตั้งตำแหน่งสยามมกถฎราชกุมาร แทนตำแหน่งวังหน้า
การส่งเสริมวรรณกรรมและศิลปกรรม
1) วรรณกรรม ที่สำคัญ เช่น บทละครเรื่องเงาะป่าไกลบ้าน และของพระยาศรีสุนทรโวหาร เช่นมูลบทบรรพกิจ อักษรประโยค
2) ศิลปกรรม ศิลปกรรมมักจะเป็นของไทยผสมกับยุโรป เช่น วัดเบญจมบพิตร พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
3) ประติมากรรม เช่น พระบรมรูปทรงม้า พระพุทธชินราชจำลอง
4) จิตรกรรม มีภาพเขียนแบบตะวันตกที่เรียกว่า ภาพเขียนปูนเปียก และมีภาพจิตกรรมฝาผนัง
5) นาฏกรรม ละครแบบใหม่ในสมัยนี้ เช่น ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
รัชกาลต่อมา คือ รัชกาลที่ 6 ก็ได้พัฒนาประเทศด้วยการปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี และความเจริญด้านศิลปะ และวัฒนธรรม ดังนี้
การปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี
(1) การออกพระราชบัญญัตินามสกุล เพื่อประโยชน์ในการปกครองของประเทศ
(2) เปลี่ยนธงชาติจากธงช้าเผือกเป็นธงไตรรงค์
(3) ใช้ พ.ศ. ตามการนับถือพระพุทธศาสนา และเปลี่ยนการนับเวลาเป็น 1 นาฬิกา ถ้าหลังจากเที่ยงคืนไปแล้ว
(4) กำหหนดคำนำหน้าเด็กและสตรี
ศิลปวัฒนธรรม
1) สถาปัตยกรรม ศิลปะแบบไทยแห่งแรกที่ทรงสร้าง คือ พระราชวังสนามจันทน์ จังหวัดนครปฐม
2) ประติมากรรม ประติมากรรมแบบไทยแท้ เช่น รูปหล่อสัมฤทธิ์พระนางธรณีบีบมวยผม เป็นต้น
3) จิตรกรรม เป็นภาพเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก และพระมหากษัตริย์ไทย เช่น ภาพเขียนที่โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม
4) วรรณกรรม อิทธิพลของตะวันตกมีมากขึ้น การเขียนร้อยกรองเปลี่ยนเป็นการเขียนร้อยแก้ว รูปแบบคำประพันธ์ก็เป็นแบบ ตะวันตกมากขึ้น
5) ศิลปกรรม พระองค์สนใจงานศิลปกรรมมากจึงได้จัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้น เพื่อให้มีการสอนศิลปะไทยและศิลปะ ตะวันตก จิตรกรที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้คือ พระยาอนุศาสน์ เป็นผู้เขียนภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม จังหัดพระนครศรีอยุธยา
6) นาฏกรรม โขน ละคร และดนตรี เจริญสูงสุดในสมัยนี้ เพราะพระองค์เชื่อว่านอกจากจะให้ความบันเทิงใจแล้ว ยังสามารถ ยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น
คลิกทำแบบทดสอบ