MY MUSIC .

หน่วยการเรียนรู้ที่ ๔ บุคคลสำคัญ

บุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างสรรค์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย
               
ชนชาติไทยมีประวัติความเป็นมาและมีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง มีบุคคลสำคัญหลายท่านทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้มีส่วนในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทย ซึ่งไม่อาจกล่าวได้หมดทุกท่าน จึงเพียงยกตัวอย่างมาเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น

บุคคลสำคัญในสมัยสุโขทัย
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 


พระราชประวัติ 
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (บางกลางหาว)   กับนางเสือง มีพระนามเดิมว่า  พระราม  เมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบิดาไปในการสงครามระหว่างสุโขทัย กับเมืองฉอด ทรงช่วยพระบิดาทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พระบิดาจึงเฉลิมพระนามให้เป็น  “ พระรามคำแหง "
ในช่วงรัชสมัยพ่อขุนบางเมือง ซึ่งเป็นพระเชษฐา พระรามคำแหงทรงเป็นกำลังสำคัญในการรบปราบปรามเมืองชายแดนหลายแห่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๒๒
 
                                        พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
 
ทรงขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางกว่ารัชสมัยใดๆ
ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖
ทรงส่งเสริมการค้า ทั้งการค้าภายในและการค้าภายนอก เช่น  ให้งดเว้นการเก็บจกอบหรือภาษีผ่านด่าน
ทรงบำรุงศาสนา เช่น ให้นิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชมาเป็นพระสังฆราช
และริเริ่มการนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมในวันพระ
ทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ผู้เดือดร้อนมาสั่นกระดิ่ง ถวายฎีกาได้ ให้ทายาทมีสิทธิได้รับมรดก จากพ่อแม่ที่เสียชีวิตไป เป็นต้น
ทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐใกล้เคียง ได้แก่ ทรงเป็นพระสหายกับพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา พญางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา ทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าฟ้ารั่ว แห่งอาณาจักรมอญและทรงเป็นรัฐบรรณาการกับจีน 

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)
พระราชประวัติ 
พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรม-ราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชา   ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทและพระราชนัดดา(หลานปู่) ของพ่อขุนรามคำแหง  ครองราชย์  พ.ศ. ๑๘๙๐ แต่ไม่ทราบปีสิ้นสุดรัชสมัยที่แน่นอน สันนิษฐานว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๖๖  พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นแบบฉบับของกษัตริย์ในคติธรรมราชา ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ชักนำชนทั้งหลายให้พ้นทุกข์  หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงว่าพระองค์มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี  ได้แก่  วรรณกรรมเรื่อง  ไตรภูมิพระร่วง  วรรณคดีชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์หลังจากทรงเป็นรัชทายาทครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ๘ ปี จึงเสด็จมาครองสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ โดยต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยหลังสิ้นรัชกาลพ่อขุนงัวนำถมแล้วเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ ไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม 
 
    พระราชกรณียกิจที่สำคัญ  
              - การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ   เพราะสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว     บ้านเมืองแตกแยกแคว้นหลายแคว้นในราชอาณาจักรแยกตัวออกห่างไป ไม่อยู่ในบังคับบัญชาสุโขทัยต่อไป                     
            - พญาลิไททรงคิดจะรวบรวมสุโขทัยให้กลับคืนดังเดิม แต่ก็ทรงทำไม่สำเร็จ นโยบายการปกครองที่ใช้ศาสนาเป็นหลักรวมความเป็นปึกแผ่นจึงเป็นนโยบายหลักในรัชสมัยนี้                      
              - ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก
             - ทรงออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ การที่ทรงออกผนวช นับว่าทำความมั่นคงให้พุทธศาสนามากขึ้น   ดังกล่าวแล้วว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยก วงการสงฆ์เองก็แตกแยก แต่ละสำนักแต่ละเมืองก็ปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เมื่อผู้นำทรงมีศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นออกบวช พสกนิกรทั้งหลายก็คล้อยตามหันมาเลื่อมใสตามแบบอย่างพระองค์ กิตติศัพท์ของพระพุทธศาสนาในสุโขทัยจึงเลื่องลือไปไกล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้ออกไปเผยแพร่ธรรมในแคว้นต่างๆ เช่น อโยธยา หลวงพระบาง เมืองน่าน พระเจ้ากือนา แห่งล้านนาไทย  ได้นิมนต์พระสมณะเถระไปจากสุโขทัย เพื่อเผยแพร่ธรรมในเมืองเชียงใหม่   พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท มีมเหสีชื่อพระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อมา  คือ  พระมหาธรรมราชาที่สอง ปีสวรรคตของกษัตริย์  พระองค์นี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คงอยู่ในระยะเวลาระหว่างปีพ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๗

บุคคลสำคัญในสมัยอยุธยา
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระราชประวัติ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 (เจ้าสามพระยา)  กับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย  พระองค์จึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณบุรีและราชวงศ์พระร่วง  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอยุธยา    
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ  
 
1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา
                      เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร  พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔   ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง      พ.ศ. ๑๙๙๔  พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา  พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง
              สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือราชธานี  จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง  เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่ายทหาร  สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์  นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา  ได้แก่  พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง   พ.ศ. ๑๙๙๘  เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร  เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)  ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี  เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้านนา  ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา
                สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   เป็นโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์สุโขทัยกับพระวิสุทธิกษัตริย์  พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ประสูติเมื่อ  พ.ศ. ๒๐๙๘  ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อพระชนมายุได้  ๙  พรรษา ทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี  เพราะพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้  ทรงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมเป็นเวลา  ๗ ปี  จน พ.ศ. ๒๑๑๒  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระมหาธรรมราชาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี  และอนุญาตให้พระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา  และได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกและมีตำแหน่งอุปราช  ระหว่างนั้นทรงทำสงครามกับเขมรและพม่า   เพื่อป้องกันอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนี้จึงคิดกำจัดพระนเรศวร  แต่พระองค์ทรงทราบจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลา  ๑๕  ปี หลังจากประกาศอิสรภาพก็ทรงทำสงครามกับพม่าหลายครั้งและได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้เป็นกำลังได้มาก  ต่อมาในพ.ศ. ๒๑๓๓  สมเด็จพระธรรมราชาสวรรคต  พระนเรศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนาพระเอกาทศรถพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช  พระราชภารกิจของพระองค์  ได้แก่  การทำศึกสงคราม  โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญ  คือ  สงครามยุทธหัตถี  ที่ทรงรบกับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย  ซึ่งพระองค์ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและถือเป็นพระเกียรติสูงสุด  เป็นวีรกรรมสุดยอดของกษัตริย์  แม้แต่ฝ่ายแพ้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบแท้  หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕๐ ปี  กรุงศรีอยุธยาไม่ถูกรุกรานจากพม่าอีก  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งล้านนา ล้านช้าง  ไทใหญ่  และกัมพูชา  รวมถึงพม่า  ครั้งสุดท้าย  คือ  การเดินทัพไปตีเมืองอังวะ  ซึ่งพระองค์ประชวร  และสวรรคตที่เมืองหาง  ใน พ.ศ. ๒๑๔๘  พระชนมายุได้  ๕๐  พรรษา  เสวยราชสมบัติได้  ๑๕  ปี   สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้กอบกู้เอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา  ประชาชนชาวไทยจึงยกย่องพระองค์ให้เป็น  มหาราช  พระองค์หนึ่ง 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 
พระราชประวัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  กับพระอัครมเหสี  ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕  เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์  การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ  พระองค์มีแม่นม ๒  คน คอยดูแลอภิบาล  คือ  เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก)  และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198    พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี   ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์  และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า   หลังจากนั้นประมาณ  ๒  เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา  เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา  หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของพระราชวงศ์ปราสาททอง  ใน พ.ศ. ๒๑๙๙  ขณะพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา  ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์  แต่คนทั่วไปนิยมเรียก  สมเด็จพระนารายณ์  กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีความเจริญรุ่งเรืองมาก  
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
 
                         - การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา ๓ ปีเศษ
                       - การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง
                       - การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม  หนังสือที่แต่งในสมัยนี้  เช่น  สมุทรโฆษคำฉันท์  โคลงทศรถสอนพระราม  โคลงพาลี-สอนน้อง  โคลงราชสวัสดิ์  เพลงพยากรณ์กรุงเก่า  เพลงยาวบางบท  รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ  คือ  โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น  ยุคทองแห่งวรรณกรรม  ของไทยยุคหนึ่ง  
                       - การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.๒๒๐๓  และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย 
                       - ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น  เจริญรุ่งเรืองมาทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส  ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว  จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑  ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 

บุคคลสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงเป็นสามัญชนโดยกำเนิดในตระกูลแต้ ทรงพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง ออกจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อนางนกเอี้ยง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นธิดาขุนนาง ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือเป็นธิดาของเจ้าเมืองเพชรบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลักฐานส่วนใหญ่เชื่อว่า ทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถพิเศษด้านกฎหมาย ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความ ของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนือง ๆ มีความชอบในแผ่นดิน ต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งพระยาตาก
               ระหว่างเวลา 15 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์ทรงรวบรวมชุมชนไทย ที่ตั้งตัวเป็นชุมนุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่น และรวมอาณาใกล้เคียงเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระราชอาณาจักรธนบุรีด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระชนม์พรรษาได้ 48 ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ในประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี

บุคคลสำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
บุคคลสำคัญและผลงานในสมัยกรุงรัตน์โกสินทร์

            สมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้นำวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของกรุงศรีอยุธยามาใช้ในเกือบทุกด้าน โดยนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและสถานการณ์บ้านเมือง ตัวอย่างบุคคลสำคัญและผลงานในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและพระพุทธรูปโบราณที่ถูกทอดทิ้งให้ชำรุดตามหัวเมืองต่างๆ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 11 ในด้านศิลปะทรงรวบรวมช่างไทยสิบหมู่ที่สืบทอดความรู้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้านวรรณกรรมนั้นทรงโปรดให้นิพนธ์วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ ส่วนทางด้านเนติธรรมทรงโปรดให้ชำระกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่อยุธยาให้มีความเที่ยงธรรมและครอบคลุมมากขึ้นเรียกว่ากฎหมายตราสามดวง



พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ในสมัยรัชกาลที่ ๒บ้านเมืองเริ่มสงบจากภัยข้าศึก ความเจริญทางวัฒนธรรมจึงมีความโดดเด่นและมีมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์เป็นอย่างสูง ทรงนิพนธ์วรรณคดีเรื่องอิเหนา สังข์ทอง ไกรทอง กาพย์เห่เรือ เสภาขุนช้างขุนแผน ฯลฯ
สุนทรภู่ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ศิลปินที่มีชื่อเสียงทางการประพันธ์อย่างมากที่สุดของไทยถือว่าเป็นกวีของประชาชน คือ สุนทรภู่ ท่านมีผลงานทางวรรณกรรมหลายประเภท คือ นิราศ บทละคร เสภากลอน กาพย์ บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ วรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับเอาวัฒนธรรมจีนมาดัดแปลงผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยเป็นอันมาก โดยเฉพาะงานการสร้างศิลปวัตถุและวัดวาอาราม เนื่องจากทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา รัชสมัยของพระองค์จึงมีการสร้างและทำนุบำรุงวัดในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก งานศิลปกรรมวัฒนธรรมมุ่งสร้างเพื่อถวายแด่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนให้นักปราชญ์จารึกวรรณคดี ตำรา ความรู้ที่สำคัญๆ ไว้บนแผ่นศิลาติดไว้ตามศาลารายรอบพระอุโบสถและรอบพระมหาเจดีย์บริเวณวัดพระเชตุพน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและรักษาวิชาการเหล่านั้นไว้ไม่ให้สูญหายไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายเปิดประเทศและรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับปรุงผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ตระหนักถึงความสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

เซอร์ จอห์น เบาริง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริงกับประเทศอังกฤษ โดยหัวหน้าคณะทูตที่มาเจรจา คือ เซอร์ จอห์น เบาริง ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นต้นแบบในการทำสัญญากับชาติตะวันตกอื่น แม้ผลของสนธิสัญญาเบาริงจะมีผลกระทบทางด้านการเมืองเพราะชาวต่างชาติที่มาติดต่อกับไทยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฏหมายไทยก็ตาม แต่ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากการผลิตในครัวเรือนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมในเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ไพร่และแรงงานในเวลาต่อมา เซอร์ จอห์น เบาริง ยังได้มีบทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการดูแลกงสุลไทยในยุโรป และเป็นราชทูตแห่งสยามไปเจริญสนธิสัญญาการค้ากับประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยี่ยม
หมอบรัดเลย์ หมอบรัดเลย์เป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย คือท่านได้สั่งแท่นพิมพ์ภาษาไทยเข้ามาตั้งโรงพิมพ์แห่งแรก ทำให้กิจการหนังสือพิพม์เกิดขึ้นในประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในเมืองไทยคือ บางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นของชาวต่างประเทศ ส่วนวารสารฉบับแรกของไทยออกโดยทางราชการไทยได้แก่ ราชกิจจานุเบกษา ความก้าวหน้าทางการพิมพ์ทำให้มีการเผยแพร่ประวัติ ตำนาน ขนบธรรมเนียม ความรู้และศาสนา ระหว่างชาวไทยและชาวต่างชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของกันและกัน ช่วยให้การติดต่อระหว่างกันสะดวกสบายขึ้นเป็นอันมากนอกจากนี้หมอบรัดเลย์ได้เริ่มเป็นผู้วางรากฐานวิชาการแพทย์สมัยใหม่ในประเทศไทยโดยได้เริ่มเป็นผู้ทำการผ่าตัดครั้งแรกในเมืองไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระปิยะมหาราช ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถสุขุมคัมภีร์ภาพจนรอดพ้นจากลัทธิ ล่าอาณานิคมทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยให้สอดคล้องกับตะวันตก ทรงมีพระราชดำริให้เลิกทาสเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มีความเสมอภาคในสังคมไทย นอกจากนี้ยังทรงปรับปรุงการคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา จนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศไทยมาจนทุกวันนี้


พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ กำลังรุกล้ำหนักจึงทรงปรับปรุงและปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้คนไทยรักชาติ มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อชาติและนิยมไทยมากขึ้น ทรงตั้งกองเสือป่าเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมในหมู่สมาชิก

คลิกทำแบบทดสอบ